หลักการและเหตุผล

     ประชาชน/ชุมชน ในระดับฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) รวมทั้งยังขาดขีดความสามารถทางด้าน วทน. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจประการหนึ่งในการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้มีการสร้างกลไก/เครื่องมือในการนำเทคโนโลยีที่มาจากผลงานวิจัยและพัฒนา แพร่กระจายและถ่ายทอดฯ ไปยังชุมชน/ท้องถิ่น ที่เรียกว่า คลินิกเทคโนโลยี เมื่อปี 2546 โดยความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด วท. และสถาบันการศึกษา ปัจจุบัน (ปี 2556) มีเครือข่ายความร่วมมือฯ กว่า 70 เครือข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด รวมทั้งสร้างและเพิ่มขีดความสามารถด้าน วทน. ให้แก่สมาชิกอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อสวท.) ที่จะเป็นสื่อกลางด้าน วทน. ในชุมชน กว่า 6,765 คน และเมื่อปี พ.ศ.2552 ได้พัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ให้เป็นต้นแบบในการนำ วทน. ไปใช้ในการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันมีหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้มีการนำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ จำนวน 251 หมู่บ้านใน 206 อำเภอ 64 จังหวัด โดยมีผู้รับประโยชน์จากการนำ วทน. ไปใช้ ปีละไม่น้อยกว่า 20,000 คน สร้างรายได้หรือลดรายจ่ายได้ ปีละ 86.36 – 160.30 ล้านบาท รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลเทคโนโลยีผ่านช่องทางต่างๆ (ทางเว็บไซต์ ทางโทรศัพท์ สิ่งพิมพ์ การบริการเคลื่อนที่) ทั้งที่ระบุตัวตนได้และระบุตัวตนไม่ได้ ปีละไม่น้อยกว่า 800,000 คน
     ดังนั้น เพื่อให้ประชาชน/ชุมชน ได้รับโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถทางด้าน วทน. จึงได้พัฒนากิจกรรมเดิมข้างต้น ให้มีการประสานสอดคล้องโดยปรับทิศทางตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ข้อ 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ข้อ 6.2 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ข้อ 6.2.3 สนับสนุนภาคเอกชนและชุมชนในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับภาครัฐ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ : ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมที่อยู่บนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Base Economy)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายฯ ให้เป็นตัวกลางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
  2. เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
  3. เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน/หมู่บ้าน เป็นต้นแบบในการนำ วทน. ไปใช้ในการประกอบอาชีพและการพัฒนา คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  4. เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งเทคโนโลยี มีความตระหนักและมีขีดความสามารถด้าน วทน.

กลุ่มเป้าหมาย

  1. กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มอาชีพ เป็นรายบุคคลหรือมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม รวมถึงวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือเรียกชื่ออื่นๆ ที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย
  2. ผู้ผลิต OTOP เป็นผู้ประกอบการรายเดียวหรือรวมกันเป็นกลุ่ม
  3. สมาชิกอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

  1. จังหวัด/กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. หน่วยงานในสังกัด วท. สถาบันการศึกษา /เอกชน ที่เป็นเครือข่ายฯ
  3. ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค

แนวทาง/การดำเนินงานที่สำคัญ

  1. การบริหารจัดการและส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (หน่วยงานในสังกัด วท. สถาบันการศึกษา สมาชิกอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงรับ-ส่งโจทย์ความต้องการ จัดหาแหล่งเทคโนโลยี รวบรวม จัดทำฐานข้อมูลเทคโนโลยี พร้อมเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  2. กำหนดให้มีช่องทางการให้บริการคำปรึกษา ข้อมูลเทคโนโลยี ทั้งที่ดำเนินการเองและผ่านเครือข่ายฯ ไม่น้อยกว่า 4 ช่องทาง ได้แก่ ทางโทรศัพท์ ทางเว็บไซต์ สิ่งพิมพ์ การบริการเคลื่อนที่ เป็นต้น
  3. กำหนดแนวทาง/กระบวนการ/รูปแบบ/วิธีการ ประเมินและคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการนำ วทน. เป็นรายหรือกลุ่มเทคโนโลยี รายพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัด รวมทั้งกลไกในการติดตาม ประเมินผลและรายงานผล ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ และคณะทำงานฯ
  4. ประสานความร่วมมือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค และสมาชิกอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาจังหวัด ชุมชนและท้องถิ่น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  5. การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมฯ ดำเนินการผ่าน 3 งาน ดังนี้
    • งานคลินิกเทคโนโลยี
    • งานหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    • งานอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Copyright © Clinic Technology
Kasetsart University
Kamphaeng Saen Campus

คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ที่อยู่ : เลขที่ 1 หมู่ 6 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 7314
โทรศัพท์ : 034 341 550-3 ต่อ 3122
โทรสาร : 034 341 548

Follow Us